Accessibility Tools

Skip to main content

ข้อมูลความรู้เรื่องการบริจาคสเต็มเซลล์

Continue reading

การบริจาคเม็ดเลือดแดง

การบริจาคเม็ดเลือดแดง  (Single Donor Red Cells)

เม็ดเลือดแดง (Red blood Cells) เป็นส่วนประกอบชนิดหนึ่งของเลือด มีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย ผู้ป่วยที่ต้องใช้เม็ดเลือดแดงชนิด Single Donor Red Cells ในการรักษา ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคเลือดที่ต้องได้รับเลือดประจำ เช่น ธาลัสซีเมีย ไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่เป็นหมู่เลือดพิเศษหรือหายาก
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้เลือดรุนแรง (Anaphylaxis)

คุณสมบัติผู้บริจาคเม็ดเลือดแดง

  1. อายุ 17 ปีบริบูรณ์ – 60 ปี (บริจาคเม็ดเลือดแดงครั้งแรก อายุไม่เกิน 50 ปีและต้องบริจาคโลหิตรวมที่ศูนย์บริการโลหิตฯ มารวมอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 1 ปี)
  2. ผู้บริจาคชาย น้ำหนักเท่ากับหรือมากกว่า 59 กิโลกรัม ส่วนสูงมากกว่า 155 เซนติเมตร
  3. ผู้บริจาคหญิง น้ำหนักเท่ากับหรือมากกว่า 68 กิโลกรัม ส่วนสูงมากกว่า 165 เซนติเมตร
  4. มีเส้นเลือดที่ข้อพับแขนมองเห็นชัดเจน
  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงก่อนมาบริจาค เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ เป็นต้น
  6. มีค่าความเข้มข้นโลหิต Hct มากกว่า 40 % และ Hemoglobin มากกว่า 14.0 g/dl
  7. มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการบริจาคโลหิต

การบริจาคเม็ดเลือดแดง

บริจาคด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ (ฺBlood Cell Separator)  จะแยกเก็บ เฉพาะเม็ดเลือดแดงไว้ โดยคืนส่วนอื่นกลับสู่ร่างกาย และชดเชยเลือดที่บริจาคด้วยน้ำเกลือ 400 มิลลิลิตรให้แก่ผู้บริจาค ใช้เวลาประมาณ 45 นาที บริจาคได้ทุก 4 เดือน

วัน/เวลาทำการห้องบริจาคเม็ดเลือดแดง

  • วันจันทร์ พุธ ศุกร์
    (ไม่ปิดพักกลางวัน)
    เวลา 08.30-16.30 น.
    (ปิดรับบริจาคเกล็ดเลือด เวลา 15.00 น. )

  • วันอังคาร พฤหัสบดี
    (ไม่ปิดพักกลางวัน)
    เวลา 07.30-19.30 น.
    (ปิดรับบริจาคเกล็ดเลือด เวลา 17.00 น. )

  • วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์
    (ไม่ปิดพักกลางวัน)
    เวลา 08.30-12.30 น.
    (ปิดรับบริจาคเกล็ดเลือด เวลา 11.30 น.)

นัดหมายการบริจาคเกล็ดเลือด  หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2-263-9600 -99 ต่อ 1143,1144

Continue reading

การบริจาคเกล็ดเลือด

การบริจาคเกล็ดเลือด (Single Donor Platelets)

เกล็ดเลือด (platelet) คือส่วนประกอบของเลือดชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมาก มีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด และอุดรอยฉีกขาดของหลอดเลือด ปริมาณเกล็ดเลือดในคนทั่วไปมีค่าประมาณ 150,000 – 400,000 ตัวต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร (150,000 – 400,000/mm3) ผู้ป่วยที่มีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ อาจทำให้มีเลือดออกซึ่งรุนแรงถึงชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับเกล็ดเลือด (platelet transfusion) เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว จึงมีการให้เกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่มีเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือทำงานผิดปกติ หรือผู้ป่วยที่ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้น้อย (เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคตับ) หรือผู้ป่วยที่สูญเสียเกล็ดเลือดจำนวนมาก (เช่น โรคไข้เลือดออก การผ่าตัดใหญ่ การตกเลือดหลังคลอดบุตร เลือดออกจากอุบัติเหตุ เป็นต้น)

คุณสมบัติผู้บริจาคเกล็ดเลือด

  • เพศชาย
    เนื่องจากผู้บริจาคเพศหญิงอาจทำให้มีอุบัติการณ์แทรกซ้อน ในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจาก แอนติบอดี้ต่อเม็ดเลือดขาว มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวเป็นมาตรฐานสากลในการบริจาคเกล็ดเลือดรายเดียวด้วยวิธี Plateletpheresis

  • มีสุขภาพแข็งแรง
    ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการบริจาคโลหิต
  • อายุ 17 ปีบริบูรณ์ – 60 ปี
    บริจาคเกล็ดเลือดครั้งแรก อายุไม่เกิน 50 ปีและต้องบริจาคโลหิตรวมที่ศูนย์บริการโลหิตฯ มารวมอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 1 ปี
  • น้ำหนัก
    อย่างน้อย 50 กิโลกรัม
  • ปริมาณเกล็ดเลือด
    มีปริมาณเกล็ดเลือดก่อนบริจาค ไม่น้อยกว่า 200,000 ตัวต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร หลังบริจาคต้องมีปริมาณเกล็ดเลือด ไม่น้อยกว่า 100,000 ตัวต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร (ผู้บริจาคจะได้รับตรวจ CBC* ซึ่งเป็นการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ก่อนการบริจาค)
  • เส้นเลือด
    มีเส้นเลือดที่ข้อพับแขน มองเห็นชัดเจน
  • อย่างน้อย 48 ชั่วโมง
    ไม่กินยาแก้ปวดแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อและ ยาที่อยู่ในกลุ่ม NSAIDs อย่างน้อย 48 ชั่วโมง
  • อย่างน้อย 72 ชั่วโมง
    หยุดรับประทานขมิ้นชันหรือน้ำมันปลา อย่างน้อย 72 ชั่วโมง ก่อนมาบริจาค เนื่องจากอาจมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด

วิธีการบริจาค

การบริจาคเกล็ดเลือด (Single Donor Platelets) สามารถบริจาคได้ทุกเดือน โดยรับบริจาคด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ (Blood Cell Separator) เครื่องจะแยกเกล็ดเลือดเก็บและคืนส่วนอื่นกลับสู่ร่างกาย ใช้เวลาในการบริจาคแต่ละครั้งประมาณ 1-2 ชั่วโมง

วัน/เวลาทำการห้องบริจาคเกล็ดเลือด

  • วันจันทร์ พุธ ศุกร์
    (ไม่ปิดพักกลางวัน)
    เวลา 08.30-16.30 น.
    (ปิดรับบริจาคเกล็ดเลือด เวลา 15.00 น. )

  • วันอังคาร พฤหัสบดี
    (ไม่ปิดพักกลางวัน)

    เวลา 07.30-19.30 น.
    (ปิดรับบริจาคเกล็ดเลือด เวลา 17.00 น. )

  • วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์
    (ไม่ปิดพักกลางวัน)

    เวลา 08.30-12.30 น.
    (ปิดรับบริจาคเกล็ดเลือด เวลา 11.30 น.)

นัดหมายการบริจาคเกล็ดเลือด  หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2-263-9600 -99 ต่อ 1143,1144

Continue reading

การบริจาคพลาสมา

การบริจาคพลาสมา (Single Donor Plasma)

พลาสมาหรือน้ำเหลืองนั้นเป็นส่วนของประกอบของเลือดที่ได้หลังจากแยกส่วนของเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดออกไป ในพลาสมาจะประกอบไปด้วยสารโปรตีน ได้แก่ อัลบูมิน โกลบูลิน อิมมูโนโกลบูลิน สารที่ทำให้เลือดแข็งตัว มีหน้าที่สำคัญในการรักษาปริมาณน้ำภายในหลอดเลือด ต่อต้านเชื้อโรคและช่วยในการแข็งตัวของเลือด สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยา ได้แก่

1.  แฟคเตอร์ 8 (Factor VIII Concentrate)

โรคฮีโมฟีเลีย เอ (โรคเลือดออกง่ายทางพันธุกรรม)

2.  ไอวีไอจี IVIG (Intravenous Immune Globulin)

โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคทางระบบประสาทที่มีสาเหตุจากความผิดปกติ ของภูมิคุ้มกัน

3. อัลบูมิน (Albumin)

โรคเรื้อรังที่มีภาวะขาดสารอัลบูมินในกระแสเลือด เช่น โรคไต โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งที่มีความ ล้มเหลวของระบบอวัยวะ

4. เซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

คุณสมบัติผู้บริจาคพลาสมา

  1. อายุ 17 ปีบริบูรณ์ – 60 ปี (บริจาคเกล็ดเลือดครั้งแรก อายุไม่เกิน 50 ปีและต้องบริจาคโลหิตรวมที่ศูนย์บริการโลหิตฯ มารวมอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 1 ปี)
  2. น้ำหนักอย่างน้อย 50 กิโลกรัม
  3. เส้นเลือดที่ข้อพับแขนมองเห็นชัดเจน
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงก่อนมาบริจาค เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ เป็นต้น
  5. มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการบริจาคโลหิต 
  6. สำหรับผู้บริจาคโลหิตโครงการบริจาคพลาสมาทำเซรุ่มไวรัสตับอักเสบบี และเซรุ่มพิษสุนัขบ้า  
  • โครงการบริจาคพลาสมาทำเซรุ่มไวรัสตับอักเสบบี  เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเจาะเลือดประมาณ 6 mL ส่งงานห้องปฏิบัติการเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดเพื่อตรวจ Anti-HBsAg ว่ามีหรือไม่ เมื่อทราบผลทำการคัดแยกเข้าโครงการ ในกรณีที่ผลการตรวจ Anti-HBsAg เป็นบวก (มากกว่าหรือเท่ากับ 5 IU/mL) ให้เข้าโครงการเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Human Hepatitis-B Immunoglobulin HBIG) และทำบัตรนัดฉีดยา โดยนัดฉีดยาเดือนละ 1 เข็ม เป็นเวลา 3 เดือน ติดต่อกันพร้อมทั้งเจาะโลหิตตรวจหาระดับ Anti-HBsAg ก่อนฉีดยาเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ผลภูมิหลังฉีดยาครบ 3 เข็มต้องมากกว่า 10 IU/mL เมื่อฉีดยาเข็มที่ 3 ครบแล้ว 2 สัปดาห์ เริ่มบริจาคพลาสมาได้และสามารถบริจาคได้ทุก 14 วัน ในระหว่างที่อยู่ในโครงการบริจาคพลาสมาจะต้องมีการฉีดยากระตุ้นตลอดทุก 3 เดือนพร้อมทั้งตรวจระดับ Anti- HBsAg ทุก 3 เดือน
  • โครงการเซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า (Human Rabies Immunoglobulin, HRIG) โดยจะฉีดวัคซีน VERORAB 0.2 mL ID แบ่งฉีดกล้ามเนื้อ (Deltoid) ที่แขนทั้ง 2 ข้างๆ ละ 0.1 mL ทำบัตร นัดฉีดยากำหนดวันดังนี้

ฉีดวัคซีนครั้งที่ 1 (Day 0) วันที่……..(วันที่มาฟังผลและตกลงเข้าโครงการ)
ฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 (Day7) วันที่……..(7 วันหลังจากฉีดยาเข็มที่ 1)
ฉีดวัคซีนครั้งที่ 3 (Day21) วันที่……..(21 วันหลังจากฉีดยาเข็มที่ 1)

หลังจากฉีดยาครบ 3 เข็ม แล้วเมื่อครบกำหนด 2 สัปดาห์ เริ่มบริจาคพลาสมาได้ และสามารถ บริจาคได้ทุก 14 วัน ในระหว่างที่อยู่ในโครงการบริจาคจะต้องมีการฉีดยากระตุ้นตลอดทุก 3 เดือน

  • พลาสมาในกลุ่มที่ไม่ต้องฉีดวัคซีนผลิต Fractionation คัดเลือกผู้บริจาคแบบเดียวกันแต่ไม่ต้องมีการฉีดวัคซีน

การดูแลเพิ่มเติมสำหรับผู้บริจาคพลาสมา

ตรวจติดตามระดับ Total Protein และ Albumin ทุก 6 เดือน ในผู้บริจาคพลาสมาทุก ถ้า Protein ต่ำกว่า 6.0 g/dl ให้ผู้บริจาคหยุดการบริจาคชั่วคราว และนัดมาตรวจซ้ำหลังจาก นั้น 1 เดือน ถ้ามากกว่า 6.0 g/dl สามารถบริจาคต่อได้

วิธีการบริจาค

การบริจาคพลาสมา จะบริจาคด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ (Blood Cell Separator) ใช้เวลาในการบริจาค ประมาณ 45 นาที ครั้งละ 500 ซีซี บริจาคได้ทุก 14 วัน

วันและเวลาทำการ

  • วันจันทร์ พุธ ศุกร์
    (ไม่ปิดพักกลางวัน)
    เวลา 08.30-16.30 น.
    (ปิดรับบริจาคเกล็ดเลือด เวลา 15.30 น. )

  • วันอังคาร พฤหัสบดี
    (ไม่ปิดพักกลางวัน)
    เวลา 07.30-19.30 น.
    (ปิดรับบริจาคเกล็ดเลือด เวลา 18.00 น. )

  • วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์
    (ไม่ปิดพักกลางวัน)
    เวลา 08.30-12.30 น.
    (ปิดรับบริจาคเกล็ดเลือด เวลา 12.00 น.)

นัดหมายการบริจาคเกล็ดเลือด  หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2-263-9600 -99 ต่อ 1143,1144

วันและเวลาทำการห้องรับบริจาคพลาสมา ชั้น 2

เปิดทำการเฉพาะ วันจันทร์-ศุกร์
(ไม่หยุดพักกลางวัน)
เวลา 08.30-16.30 น.
ปิดทำการวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2256 4300, 0 2263 9600-99 ต่อ 1101,1203

Continue reading