การเตรียมตัวก่อนและหลังบริจาคโลหิต
การเตรียมตัวก่อนและหลังบริจาคโลหิต
ก่อนบริจาคโลหิต
นอนหลับสนิท
พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชม.
รู้สึกสบายดี
สุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะบริจาคโลหิต หากอยุ่ระหว่างรับประทานยารักษาโรค ให้แจ้งแพทย์/พยาบาล ผู้ตรวจคัดกรองสุขภาพทุกครั้ง
รับประทานอาหารก่อนมาบริจาคโลหิต
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ แกงกะทิขนมหวาน รวมถึงเครื่องดื่มที่ใส่ส่วนผสมที่มีไขมันสูง เช่น นมข้นหวาน ครีมเทียม ก่อนมาบริจาคโลหิต 6 ชม. เพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้
ดื่มน้ำ
ก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 300 – 500 ซีซี ซึ่งจะเทียบเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไปจากการบริจาค จะทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวะการเป็นลมหลังการบริจาคโลหิตได้
งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชม.
งดสูบบุหรี่
ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชม. เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
ขณะบริจาคโลหิต
- สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้ อย่างน้อย 3 นิ้ว เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
- ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอม ขณะบริจาคโลหิต
- ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก
- หากมีอาการผิดปกติระหว่างบริจาค เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
หลังบริจาคโลหิต
นอนพักที่เตียง 5 นาที
หากไม่มีอาการผิดปกติ จึงลุกจากเตียง และไปนั่งพัก 10 -15 นาที พร้อมดื่มเครื่องดื่ม และรับประทานอาหารว่าง
ดื่มน้ำ
ให้มากกว่าปกติ เป็นเวลา 24 ชม.
รับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก
วันละ 1 เม็ด หลังอาหารจนหมด เพื่อชดเชยธาตุเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ
หลีกเลี่ยงการขึ้น-ลงที่สูง
อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้
หลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างที่บริจาคโลหิต
เป็นเวลา 24 ชม.
หลีกเลี่ยงการเดินไปในบริเวณที่แออัด
และมีอากาศร้อนอบอ้าวงดกิจกรรมหรือทำงานที่มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ความเร็ว ความสูง ความลึก เครื่องจักรกล
งดออกกำลังกาย
ที่ทำให้เสียเหงื่อ เป็นเวลา 24 ชม.