Accessibility Tools

Skip to main content

ความรู้เกี่ยวกับโลหิตหมู่พิเศษ

เราจำแนกหมู่โลหิต (ฺBlood Type) ของมนุษย์ด้วย 2 ระบบ ประกอบด้วย

ABO SYSTEM เป็นการจำแนกตาม Antigen A และ Antigen B
ที่ปรากฏบนเม็ดเลือดแดง โดยทั่วไปจะพบ
– หมู่โลหิต A ประมาณ 24%
– หมู่โลหิต B ประมาณ 34%
– หมู่โลหิต O พบประมาณ 38% (มากที่สุด)
– หมู่โลหิต AB ประมาณ 8% (น้อยที่สุด)

Rh SYSTEM เป็นการจำแนกตาม Antigen D
ที่ปรากฏบนเม็ดเลือดแดง โดยแบ่งเป็น
– Rh-Positive คือกลุ่มที่ตรวจพบ Antigen D ในเม็ดเลือดแดง (พบได้โดยทั่วไป)
– Rh-Negative คือกลุ่มที่ไม่พบ Antigen D ในเม็ดเลือดแดง ซึ่งพบเพียงร้อยละ 15
ในกลุ่มคนผิวขาว และมีอัตราพบน้อยมากในไทย เพียง 3 ใน 1,000 คน เท่านั้น
จึงนับเป็น “หมู่โลหิตหายาก” หรือ “หมู่โลหิตพิเศษ”นั่นเอง

ความสำคัญของหมู่โลหิตพิเศษ

ในการรักษาพยาบาลที่ต้องมีการให้โลหิต ผู้ที่มีหมู่โลหิตพิเศษ Rh- จำเป็นต้องได้รับโลหิตหมู่โลหิต Rh- ในการรักษาเท่านั้น เพื่อป้องกันการกระตุ้นการสร้าง Antibody ขึ้นมาทำลาย Antigen D บนเม็ดเลือดแดง เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่มีหมู่โลหิต Rh- สามารถรับโลหิตจากหมู่ Rh+ ได้ แต่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพราะหากได้รับเป็นครั้งที่ 2 ภูมิต้านทานในร่างกายจะสร้าง Antibody ขึ้นมาทำลายเม็ดเลือดแดงที่มี Antigen D บนพื้นผิวซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ข้อควรระวัง ในมารดาที่มีหมู่โลหิต Rh-

กรณีที่แม่มีหมู่โลหิต Rh- และพ่อมีหมู่โลหิต Rh+ มีข้อควรระวัง ดังนี้

  • ในครรภ์แรก เมื่อลูกมีหมู่โลหิต Rh+ เหมือนพ่อจะมี ความเสี่ยงสูงที่เม็ดเลือดแดงของลูกจะเข้าสู่กระแสโลหิต ของแม่ได้ในระหว่างการหลุดลอกของรก ซึ่งภูมิของแม่ ก็จะสร้าง Antibody D มาต้าน Antigen D บนเม็ดเลือด แดงของลูก ลูกคนแรกในครรภ์นี้จะปลอดภัย
  • ในครรภ์ที่ 2 ถ้าลูกเป็น Rh- เหมือนแม่ ลูกจะปลอดภัย ถ้าลูกเป็น Rh+ เหมือนพ่อ จะเกิดสภาวะที่อันตราย เนื่องจากแม่สร้างภูมิ Atibody D มาแล้วในครรภ์แรก และภูมินี้จะไปทำลายเม็ดเลือดเลือดแดงของลูกคนที่ 2 ได้ *ลูกจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

“ดังนั้น ผู้หญิงที่มีหมู่เลือด Rh- ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนก่อนมีบุตรและเตรียมการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์”

การถ่ายทอดหมู่โลหิต ABO ของพ่อ-แม่-ลูก ที่เป็นไปได้

การถ่ายทอดทางพันธุกรรม

โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงหมู่โลหิต Rh แล้วจะหมายถึงเฉพาะยีนคู่แรก ซึ่ง D เป็นยีนที่ทำให้คนเรามีหมู่โลหิตเป็น Rh บวก หรือถ้าไม่มียีน D จะเป็น Rh ลบ คนที่มียีน DD หรือชนิด Dd จะเป็น Rh บวก กล่าวคือ มี D แอนติเจนบนเม็ดเลือดแดง ส่วนคนที่มียีนชนิด dd จะเป็น Rh ลบ ซึ่งมาจาก 3 กรณี คือ

กรณีที่ 1 พ่อและแม่มีหมู่โลหิต Rh+ ทั้งคู่ แต่มียีนด้อยแฝงอยู่ (Dd) มีโอกาสที่ลูกจะมีโลหิตเป็น Rh- 25%

กรณีที่ 2 พ่อ หรือ แม่ คนใดคนหนึ่ง มีหมู่โลหิต Rh+ และมียีนด้อยแฝงอยู่ (Dd) และอีกฝ่ายหนึ่งมีหมู่โลหิต Rh- (dd) มีโอกาสที่ลูกจะมีโลหิตเป็น Rh- 50%

กรณีที่ 3 พ่อ และ แม่ ทั้งคู่มีหมู่โลหิต Rh- ซึ่งมียีนด้อย dd ทั้งสองคน มีโอกาสที่ลูกจะมีโลหิตเป็น Rh- 100%